วันพุธที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

โรงพยาบาลสุรินทร์จัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก

         วันที่ 28 พฤษภาคม 2557 คลินิกฟ้าใส กลุ่มงานสุขศึกษา โรงพยาบาลสุรินทร์ จัดกิจกรรมเนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนทราบและตระหนักถึงโทษและพิษภัยของยาสูบ  การสร้างและพัฒนาเครือข่ายแกนนำให้มีความรู้และความเข้มแข็งมากขึ้น  ซึ่งจะเป็นพลังในการร่วมกันสร้างสังคมให้ปลอดบุหรี่ได้ต่อไป  ผู้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ประกอบด้วย  บุคลากรโรงพยาบาลสุรินทร์  และตัวแทน  อสม.  จากทุกชุมชนในเขตเมืองสุรินทร์







          นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการประกวด"บุรุษ-ธิดาต้านภัยบุหรี่ ปี2557" โดยมีบุคลากรของโรงพยาบาลบาลสุรินทร์ให้ความสนใจเข้าร่วมประกวดทั้งประเภทชายและประเภทหญิงทั้งสิ้น 19 คน อีกทั้งยังได้รับความร่วมมือจากทางเครือข่ายสื่ออาสาจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งนำโดยอาจารย์ศักดา  เชื้ออินทร์  ที่มาร่วมกันรณณงค์ในกิจกรรมการต้านภัยบุหรี่ เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลกในครั้งนี้อีกด้วย


      นพ.สมชัย  อัศวรัศมี ประธานคณะทำงานคลินิกฟ้าใส โรงพยาบาลสุรินทร์ กล่าวว่า  การบริโภคยาสูบเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ ที่สามารถป้องกันได้ การบริโภคยาสูบของประชากรโลกทำให้ผู้คนล้มตายประมาณ 6 ล้านคนในแต่ละปี และมากกว่า 600,000 คน ตายเพราะการได้รับควันบุหรี่มือสอง หากเราละเลยในเรื่องนี้ ในอนาคตไม่ถึง 20 ปีข้างหน้า ค.ศ. 2030 คาดการณ์จะมีคนตายจากการสูบบุหรี่ถึง 8 ล้านคนต่อปี ในจำนวนนี้ ร้อยละ 80 จะเป็นประชากรที่อยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงรายได้ปานกลาง
       นางอัสนี  นาคาวงค์ หัวหน้ากลุ่มงานสุขศึกษา ในฐานะประธานผู้จัดงานในครั้งนี้กล่าวว่ สืบเนื่องจากองค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้ 31 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก โดยในปี พ.ศ. 2557 นี้ ได้กำหนดประเด็นการรณรงค์ไว้ว่า Raise Taxes on Tobacco ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ใช้ภาษาไทยว่า “บุหรี่ : ภาษียิ่งเพิ่ม คนตายยิ่งลด” โดยการรณรงค์ในปีนี้องค์การอนามัยโลก เน้นเชิญชวนให้นานาประเทศทั่วโลก เรียกร้องให้รัฐบาลของตนเองขึ้นภาษียาสูบให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น  ซึ่งจะเป็นมาตรการที่มีปร ะสิทธิภาพในการควบคุมการบริโภคยาสูบในกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำ  อีกทั้งยังเป็นการป้องกันเด็กและเยาวชนที่คิดจะเริ่มต้นหรือเข้าถึงการสูบบุหรี่อีกด้วย


          ดร.นพ.ธงชัย  ตรีวิบูลย์วณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุรินทร์ กล่าวว่า ข้อมูลจากการวิจัยทั้งหมด  พบว่า  การขึ้นภาษีที่ทำให้ราคาขายปลีกยาสูบสูงขึ้นเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการควบคุมยาสูบ  โดยทำให้คนสูบบุหรี่น้อยลง  ทำให้ผู้สูบบุหรี่ที่มีรายได้น้อยเลิกสูบและทำให้เด็กๆ  เข้ามาติดบุหรี่น้อยลง  เมื่อคนสูบบุหรี่ลดลง  คนที่จะตายจากบุหรี่ก็ลดลงด้วย  ในขณะเดียวกันการขึ้นภาษี  ทำให้รัฐบาลมีรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้น  การขึ้นภาษียาสูบจึงส่งผลดีทั้งต่อสุขภาพคือ  คนสูบบุหรี่น้อยลง  และต่อเศรษฐกิจคือ  ได้รับภาษีเพิ่มขึ้นและลดค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคจากการที่คนสูบบุหรี่น้อยลง  จึงเป็นที่เรียกกันว่า  นโยบาย  “WIN  WIN”  ที่ธนาคารโลกแนะนำให้ประเทศต่างๆ  ขึ้นภาษียาสูบตั้งแต่  พ.ศ.2535
        ความสูญเสียทางสุขภาพและทางเศรษฐกิจจากการใช้ยาสูบทำให้นานาประเทศทั่วโลก  ร่วมกันร่างอนุสัญญาควบคุมยาสูบ  ซึ่งเป็นอนุสัญญา (สนธิสัญญา)  ฉบับเดียวที่โลกมีที่เกี่ยวกับสุขภาพ  กำหนดมาตรการต่างๆ  เพื่อลดการใช้ยาสูบ  และการคุ้มครองจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง 
มาตรการที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพสูงและคุ้มค่า (Best  Buy) ได้แก่ 
1. การขึ้นภาษียาสูบ 
2. การห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ 
3. การห้ามโฆษณา/ส่งเสริมการขาย/การให้ทุนอุปถัมภ์ การทำ CSR 
4. การเตือนพิษภัยโดยภาพคำเตือนบนซองบุหรี่และการรณรงค์ผ่านสื่อวิทยุ  ทีวี
ดังนั้น  จึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะช่วยกันรณรงค์เพื่อการไม่บริโภคยาสูบ  เพื่อลดสถิติหรือจำนวนผู้สูบทั้งรายเก่าและรายใหม่ลง  ซึ่งจะส่งผลให้การป่วยด้วยโรคที่มียาสูบเป็นสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงลดลงตามไปด้วย  การจัดงานวันนี้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายแกนนำต่างๆ  ในชุมชนเขตเมือง  เพื่อนำไปสู่การทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

 ข่าวโดย  : กลุ่มงานสุขศึกษา รพ.สุรินทร์

          สุพล พันอิน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น